ไส้เลื่อน หมายถึง ภาวะที่มีลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวหรือไหลเลื่อนมาตุงที่ผนังหน้าท้อง เห็นเป็นก้อนนูนตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของหน้าท้อง พบบ่อยที่บริเวณสะดือ ขาหนีบ ต้นขาด้านใน รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดช่องท้อง*
โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทุกกลุ่มอายุ สำหรับกลุ่มอายุมากกว่า 45 ปีพบได้ประมาณร้อยละ 4
ไส้เลื่อน แบ่งออกเป็นหลายชนิดตามสาเหตุและตำแหน่งที่พบ อาทิ
ไส้เลื่อนสะดือ (umbilical hernia) หรือ สะดือจุ่น พบบ่อยในทารก มักมีอาการตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเด็กร้องไห้จะเห็นสะดือโป่ง ส่วนใหญ่จะหายได้เองก่อนอายุได้ 1-2 ปี ส่วนน้อยจะหายเมื่ออายุได้ 2-5 ปี
ไส้เลื่อนสะดือ ก็อาจพบในผู้ใหญ่ได้ เนื่องจากมีภาวะที่ทำให้หน้าท้องบริเวณรอบสะดืออ่อนแอและเกิดแรงดันในช่องท้องสูง มักจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ไส้เลื่อนขาหนีบ (inguinal hernia) นับเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด (ประมาณร้อยละ 70 ของไส้เลื่อนทั้งหมด) พบในเด็กโตและผู้ใหญ่ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 10 เท่า (พบว่าในชั่วชีวิตของทุกคนมีโอกาสเป็นไส้เลื่อนประมาณร้อยละ 27 สำหรับผู้ชาย ร้อยละ 3 สำหรับผู้หญิง) จะพบอาการมีก้อนนูนที่บริเวณขาหนีบ ในผู้ชายบางรายอาจมีลำไส้ไหลเลื่อนลงมาที่ถุงอัณฑะ เรียกว่า "ไส้เลื่อนลงอัณฑะ"
ผู้ป่วยอาจมีหน้าท้องตรงบริเวณขาหนีบอ่อนแอมาตั้งแต่กำเนิด แต่อาการของไส้เลื่อนมักจะปรากฏเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน บางรายอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากมีภาวะที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนแอและเกิดแรงดันในช่องท้องสูง
ไส้เลื่อนต้นขา (femoral hernia) พบที่บริเวณต้นขาด้านใน ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าขาหนีบ พบได้ประมาณร้อยละ 3 ของไส้เลื่อนทั้งหมด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ไส้เลื่อนรอยแผลผ่าตัด (incisional hernia) พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของไส้เลื่อนทั้งหมด เนื่องจากผนังหน้าท้องในบริเวณแผลผ่าตัดมีความอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลเลื่อนเป็นก้อนนูนที่บริเวณนั้น
*นอกจากนี้ยังมีไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นภายในช่องท้อง ที่พบบ่อยได้แก่ ไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia/diaphragmatic hernia) ซึ่งเป็นภาวะที่กระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
สาเหตุ
เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อนยาน) ผิดปกติ ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้เคลื่อนตัวหรือไหลเลื่อนเข้าไปในบริเวณนั้น ความบกพร่องดังกล่าวอาจมีมาแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังเมื่ออายุมากขึ้นก็ได้
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดไส้เลื่อน ได้แก่
การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน
การมีประวัติเป็นไส้เลื่อนในวัยเด็กหรือเคยผ่าตัดไส้เลื่อนมาก่อน
การมีประวัติผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
ผู้สูงอายุ ซึ่งมีการเสื่อมของผนังหน้าท้อง
ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งผนังหน้าท้องส่วนที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังยังไม่เจริญแข็งแรงเต็มที่
ไอเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอักเสบ หรือถุงลมปอดโป่งพอง ซึ่งเกิดจากการสูบบุหรี่
ท้องผูกเรื้อรัง ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูงจากการเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
ต่อมลูกหมากโต ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูงจากการเบ่งถ่ายปัสสาวะเป็นประจำ
การมีบุตรหลายคน เนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรบ่อยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอ และมีแรงดันในช่องท้องสูง
ภาวะอ้วน การยกของหนักเป็นประจำ การมีน้ำในช่องท้อง (เช่น ในผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง) และการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง) ทำให้มีแรงดันในช่องท้องสูง
ข้อมูลโรค: ไส้เลื่อน (Hernia) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions