ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: โรคชีแฮน (Sheehan's syndrome)  (อ่าน 17 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 188
  • ขายออนไลน์ ใหม่-มือสอง โปรโมทสินค้า บ้าน รถ สัตว์เลี้ยง พระเครื่อง ท่องเที่ยว เครื่องสำอาง เสื้อผ้า กล้อง เว็บสมัครงาน, ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: โรคชีแฮน (Sheehan's syndrome)
« เมื่อ: วันที่ 5 พฤศจิกายน 2024, 23:41:26 น. »
Doctor At Home: โรคชีแฮน (Sheehan's syndrome)

โรคชีแฮน เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก มักพบในผู้หญิงที่มีประวัติตกเลือดรุนแรงหรือเป็นลมขณะคลอดบุตร

สาเหตุ

เกิดจาก ต่อมใต้สมอง* ขาดเลือด เซลล์บางส่วนตายไป เกิดภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย (hypopituitarism) พลอยทำให้ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต และรังไข่ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมนี้ไม่ทำงานไปด้วย ทำให้มีอาการของภาวะขาดไทรอยด์ ร่วมกับอาการของโรคแอดดิสัน ขาดประจำเดือน และเป็นหมัน

ภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย นอกจากเกิดจากการตกเลือดหลังคลอดแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บรุนแรง และอื่น ๆ

บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้

* ต่อมใต้สมอง (pituitary gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญที่สุดของร่างกาย อยู่ตรงบริเวณใต้สมอง มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย และควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต รังไข่ (ในผู้หญิง) และอัณฑะ (ในผู้ชาย)


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขี้หนาว หน้าตาดูแก่เกินวัย วิงเวียน ประจำเดือนไม่มา เป็นหมัน

บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร ซูบผอม


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลัน เป็นอันตรายได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ซูบผอม ซีด ความดันต่ำ ขนรักแร้ และขนในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ร่วง ผิวหนังหยาบแห้ง

แพทย์จะทำการวินิฉัยให้แน่ชัดโดย การตรวจเลือด (ดูระดับฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง) การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (เพื่อดูลักษณะผิดปกติของต่อมใต้สมอง) และถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจพิเศษ อื่น ๆ


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ และไฮโดรคอร์ติโซน (หรือเพร็ดนิโซโลน) โดยต้องกินยาไปจนตลอดชีวิต

ในรายที่ยังต้องการมีบุตร อาจต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้รังไข่ทำงาน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขี้หนาว หน้าตาดูแก่เกินวัย วิงเวียน ประจำเดือนไม่มา ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคชีแฮน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    กินยาแล้วไม่ทุเลาหรือมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ซึม ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

อาจป้องกันได้ ด้วยการป้องกันการตกเลือดหลังคลอดรุนแรง ด้วยการฝากครรภ์และคลอดในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม

ข้อแนะนำ

โรคนี้มีทางรักษาให้เป็นปกติสุขได้ แต่ต้องกินยาเป็นประจำทุกวันอย่าได้ขาด