ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis/Pleurisy)  (อ่าน 25 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 175
  • ขายออนไลน์ ใหม่-มือสอง โปรโมทสินค้า บ้าน รถ สัตว์เลี้ยง พระเครื่อง ท่องเที่ยว เครื่องสำอาง เสื้อผ้า กล้อง เว็บสมัครงาน, ลงประกาศฟรี ลงโฆษณาฟรี
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis/Pleurisy)
« เมื่อ: วันที่ 6 กันยายน 2024, 18:45:41 น. »
หมอประจำบ้าน: เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis/Pleurisy)

เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ เนื้อปอด (pleura) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ และมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการที่เด่นชัดคือ เจ็บแปลบที่บริเวณหน้าอก (ตรงตำแหน่งที่เยื่อหุ้มปอดอักเสบ) คล้ายเข็มแทงเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึก ๆ ไอหรือจาม ทั้งนี้เนื่องจากมีการยืดตัวของเยื่อหุ้มปอดที่กำลังอักเสบ เราเรียกอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะนี้ว่า อาการเจ็บหน้าอกจากเยื่อหุ้มปอด (pleuritic pain)


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น กลุ่มเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ (พบในคนหนุ่มสาวที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 3-5 วัน) ไวรัสกลุ่มค็อกแซกกีบี (coxsackie B virus ทำให้เกิดโรค pleurodynia หรือ Bornholm disease ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เจ็บหน้าอกนานครั้งละ 15-30 นาที อาจมีอาการหายใจเร็ว มักเป็นอยู่นาน 2-4 วัน)

บางรายอาจเกิดจากปอดอักเสบ วัณโรคปอด มะเร็งปอด ฝีปอด (lung abscess) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ซึ่งมีการอักเสบลุกลามมาที่เยื่อหุ้มปอด สาเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างรวดเร็ว

บางรายอาจเกิดจากสาเหตุรุนแรง เช่น ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะปอดทะลุ ฝีตับอะมีบา กระดูกซี่โครงหักตำถูกเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น


อาการ

มักมีอาการเจ็บแปลบเพียงชั่วไม่กี่วินาทีตรงหน้าอกซีกใดซีกหนึ่ง เป็นบางครั้งบางคราวเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึก ๆ เวลาไอหรือจามถ้ากลั้นลมหายใจหรือหายใจค่อย ๆ จะไม่มีอาการแต่อย่างใด

ถ้าเกิดจากไวรัสที่มีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการทั่วไปเป็นปกติดี สามารถทำงานได้ และมักมีอาการเพียง 2-3 วัน (มักไม่เกิน 5 วัน) ก็หายได้เอง

ถ้าเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อาจมีไข้สูง เจ็บหน้าอกรุนแรงหรือตลอดเวลา เป็นลม หายใจหอบ น้ำหนักลดหรือไอเป็นเลือดร่วมด้วย


ภาวะแทรกซ้อน

ขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบ

ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร

ถ้าเกิดจากปอดอักเสบ วัณโรคปอด มะเร็งปอด ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด  ภาวะปอดทะลุ ฝีตับอะมีบา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเหล่านี้ได้


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

ในรายที่เป็นไม่รุนแรง การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งที่ผิดปกติ รวมทั้งการใช้เครื่องฟังตรวจปอดและหัวใจก็เป็นปกติ

ในรายที่มีสาเหตุเกี่ยวกับปอดหรือสาเหตุที่ร้ายแรงอาจตรวจพบอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ไข้สูง หอบ ช็อก ใช้เครื่องฟังตรวจปอดอาจมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) หรือเสียงหายใจค่อยเนื่องจากภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าเจ็บแปลบเพียงชั่วไม่กี่วินาทีเป็นครั้งคราว ไม่มีอาการไข้ และหายใจเป็นปกติ แพทย์จะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ถ้าไอมากและทำให้เจ็บหน้าอก ให้กินยาระงับการไอทุก 8 ชั่วโมง ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน ควรส่งเอกซเรย์และตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่น ๆ

2. ถ้าเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ช็อก มีไข้สูง ไอเป็นเลือด น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อยหรือแน่นอึดอัด ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ หรือเสียงหายใจค่อย แพทย์จะรับตัวไว้ในโรงพยาบาลทำการตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด และให้การรักษาไปตามสาเหตุที่พบ

ผลการรักษา ขึ้นกับโรคต้นเหตุ ซึ่งมีความร้ายแรงแตกต่างกัน ส่วนใหญ่หากได้รับการรักษาตั้งแต่มีอาการระยะแรก ก็มักจะปลอดภัย หรือหายเป็นปกติได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ล่าช้า หรือเกิดจากภาวะร้ายแรง การรักษาก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร หรืออาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้


การดูแลตนเอง

หากมีอาการเจ็บแปลบเวลาหายใจเข้าลึก ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

ให้การป้องกันตามโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ปอดอักเสบ วัณโรคปอด มะเร็งปอด เป็นต้น


ข้อแนะนำ

1. เยื่อหุ้มปอดอักเสบมีสาเหตุและความรุนแรงต่าง ๆ กัน แพทย์จำเป็นต้องซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและให้การรักษาตามอาการ และทำการติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่ดีขึ้นหรือสงสัยมีความผิดปกติก็จำเป็นต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม

2. อาการเจ็บแปลบที่หน้าอกเวลาหายใจเข้าลึก ๆ ไอหรือจาม นอกจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบแล้ว ยังอาจเกิดจากภาวะกระดูกซี่โครงหัก (มักมีประวัติได้รับบาดเจ็บ) หรืออาการเจ็บกล้ามเนื้อหรือกระดูกบริเวณหน้าอก ผู้ป่วยกลุ่มนี้เวลาเอี้ยวตัว หรือกดถูกบริเวณที่ปวดจะมีอาการเจ็บมากขึ้น ถ้าให้การรักษาด้วยยาบรรเทาปวด หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์แล้วไม่ดีขึ้นใน 7 วัน หรือเจ็บรุนแรง หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด